Pages

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2562

มีอะไรใหม่ใน SolidWorks Simulation 2020

SolidWorks Simulation มีการพัฒนาฟังชั่นใหม่ๆ ขึ้นมาทุกปี  ซึ่งก็มีทั้งการปรับเปลี่ยนเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ผู้ใช้งานสะดวกขึ้น  และมีฟังชั่นเด่นที่เพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ขึ้นไปอีก

สำหรับในปี 2020 ก็มีฟังชั่นเด่นๆ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้

1. การวิเคราะห์แรงกระจายสำหรับ Pin และ Bolt

          การใช้คำสั่ง Pin หรือ Bolt ในเวอร์ชั่นก่อนจะพิจารณาให้ผิวบนชิ้นงานที่หัว Bolt  หรือผิวทรงกระบอกที่กำหนด Pin เป็นตำแหน่งที่มีความแข็งเกร็ง (เรียกกันว่า Rigid) ซึ่งทำให้ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีการเสียรูปไปจากเดิม  ซึ่งทำให้ค่า Stress บริเวณนี้จะสูงกว่าที่ควรจะเป็น
          ใน SolidWorks Simulation เวอร์ชั้น 2020 จึงเพิ่มความสามารถในการกระจายแรงบนตำแหน่งที่กำหนด Pin และ Bolt ได้  ทำให้ผลลัพธ์ทั้งค่า Stress และ Displacement สมจริงมากยิ่งขึ้น  ซึ่งความสามารถนี้ยังได้ใช้เฉพาะการวิเคราะห์ Linear Static เท่านั้น
ตัวอย่างงานวิเคราะห์ Bolt ขันล๊อคแกนเหล็ก 2 อัน  โดยมี Pre-load 1000 N
ภาพทางซ้ายคือค่า Stress จากการวิเคราะห์ Blot แบบเดิม (แบบ Rigid)  จะเห็นว่าค่า Stress สูงแต่จุดๆเดียว  ส่วนภาพทางขวาเป็นการวิเคราะห์ Bolt แบบใหม่ (แบบ Distributed)  ซึ่งแรงจะกระจายไปบนผิวบริเวณหัว Bolt ทำให้ค่า Stress กระจายไปทั่วผิวด้วย

Displacement จากการวิเคราะห์แบบ Rigid จะบุบลงไปทั้งระนาบเพราะการวิเคราะห์แบบ Rigid จะมองว่าผิวบริเวณหัว Bolt ทั้งหมดไม่มีการเสียรูป  ส่วนการวิเคราะห์แบบ Distributed จะมีค่า Displacement ค่อยๆ ไล่ระดับการยุบลงมา

2. สามารถวิเคราะห์ Draft และ High Quality Mesh ได้พร้อมกัน

          การสร้าง Mesh ในเวอร์ชั่นก่อนจะต้องเลือกว่าจะวิเคราะห์ชิ้นงานด้วย Mesh แบบ Draft หรือ High Quality อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น  ทำให้ในงาน Assembly ที่ประกอบด้วย Part ที่เป็นเหลี่ยมมุม (เหมาะสำหรับ Mesh Draft Quality ทำให้คำนวณได้เร็วขึ้น) และ Part ที่มีส่วนโค้งหรือรูเจาะ (เหมาะสำหรับ Mesh High Quality เพื่อให้ Mesh จำลองรูปร่างชิ้นงานได้ตรงตามความเป็นจริง)  จะต้องเลือก Mesh ขนิดใดเท่านั้น
          ใน SolidWorks Simulation เวอร์ชั้น 2020 สามารถเลือกได้ว่าจะให้ Part ใดใช้ Mesh High Quality และ Part ใดจะใช้ Mesh Draft Quality ทำให้การสร้าง Mesh ยืดหยุ่นมากขึ้น  และเราสามารถเลือก Mesh ให้เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและวิเคราะห์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  โดยความสามารถนี้ใช้ได้ในการวิเคราะห์ Linear Static, Frequency, และ Buckling
Mesh สีส้มคือส่วนที่เป็น Draft Quality และ Mesh สีน้ำเงินคือ High Quality

3.  วิเคราะห์ความร้อนและการขยายตัวใน Beam Mesh

          การวิเคราะห์ Thermal ก่อนหน้านี้จะทำได้เฉพาะ Solid และ Shell Mesh  ทำให้งานที่เป็นโครงเหล็ก Structure จำเป็นจะต้องใช้ Mesh จำนวนมาก  ในเวอร์ชั่น 2020 จึงเพิ่มความสามารถของการวิเคราะห์อุณหภูมิด้วย Thermal สำหรับ Beam Mesh และสามารถส่งค่าความร้อนนี้ไปวิเคราะห์ระยะยืดของโครงเหล็กได้อีกด้วย  โดยการใส่ค่าความร้อนที่สามารถกำหนดได้ใน Beam Mesh มีดังต่อไปนี้
ตารางแสดงการกำหนดค่าในฟังชั่น Thermal สำหรับ Beam Mesh
ตัวอย่างงานวิเคราะห์การกระจายตัวของอุณหภูมิ  และวิเคราะห์การขยายตัว
ความร้อนที่กระจายตัวบนโครงเหล็ก
ระยะที่เหล็กมีการยืดตัวจากความร้อน