วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

การใช้ Load Case Manager

สำหรับงานที่ต้องวิเคราะห์การรับแรงหลายๆ สถานการณ์  ปกติแล้วเราก็จะใช้วิธีสร้าง Study เพิ่มขึ้นมา  ทำให้แถบ Study ด้านล่างมีจำนวนมาก  ดังนั้นในโปรแกรม SolidWorks Simulation จึงมีฟังชั่นสำหรับวิเคราะห์งานที่ต้องกำหนดค่าหลายๆ แบบให้อยู่ในหน้าต่างเดียว  ซึ่งข้อดีคือ

- ลดการสร้าง Study จำนวนมาก  ซึ่งจะไม่สะดวกเวลาต้องการดูผลลัพธ์ใน Study อื่นๆ  เพื่อต้องคอยเลือกแถบ Study สลับไปมา

- สามารถรวมแรงที่วิเคราะห์ในแต่ละสถานการณ์ได้  ทำให้สะดวกในการตั้งค่า  เพราะไม่จำเป็นต้องสร้าง Study ใหม่สำหรับการรวมแรง

ตัวอย่างงานวิธีในบทความนี้เป็นการวิเคราะห์ฐานติดตั้ง Robot arm ซึ่งใน Spec sheet ของ Robot arm จะแสดงค่าแรงที่เกิดขึ้นขณะที่ Robot arm กำลังทำงานอยู่  โดยแบ่งเป็นแรงในแนวตั้งและแนวนอน  และโมเมนต์รอบแกนแนวตั้งและแนวนอน

ฟังชั่น Load Case Manager สามารถกำหนดให้วิเคราะห์แรงทั้ง 4 แบบแยกกันเพื่อหาผลลัพธ์ในกรณีที่ได้รับแรงแต่ละแบบ  และสามารถนำค่าผลลัพธ์ของแรงแต่ละแบบมารวมกัน  เพื่อดูผลในกรณีที่เกิดแรงสูงที่สุดได้ในหน้าต่างเดียว

สำหรับวิธีการใช้งาน Load Case Manager ก็กำหนดการตั้งค่า Simulation ทุกอย่างเอาไว้ก่อน (กรณีที่จะวิเคราะห์แรงหลายๆ แบบก็ให้กำหนดไปให้หมดในทีเดียวเลย)  จากนั้นคลิกขวาที่ชื่อ Study >> เลือก Load Case Manager

เมื่อเลือกแล้วโปรแกรมจะแสดงหน้าต่างสำหรับกำหนดค่า  โดยตัวที่ใช้งานหลักๆ คือ

- Primary Load Cases  ใช้สำหรับกำหนดค่า Fixture หรือ External Load ที่แตกต่างกันในแต่ละงาน

- Load Case Combinations  คือการเอาผลลัพธ์ที่ได้จากการตั้งค่าแต่ละงานใน Primary Load Cases มารวมกันอีกทีหนึ่ง  ซึ่งถ้าเราไม่ต้องการรวมก็ไม่ต้องใช้หัวข้อนี้ก็ได้  


หลักจากที่ตั้งค่าเสร็จแล้วก็กด Run  เราจะสามารถคำนวณผลลัพธ์ทุกงานได้ในทีเดียว  และสามารถเลือกดูผลลัพธ์ของแต่ละงานได้อีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563

วิธีการความเร็วรอบของกังหันลมด้วย Flow Simulation

การวิเคราะห์งานที่มีการหมุนใน SolidWorks Flow Simulation โดยปกติจะทำได้แค่กำหนดความเร็วในการหมุนของชิ้นงาน  แล้ววิเคราะห์ว่า Flow มีการไหลหรือความเร็วเป็นอย่างไร  แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ในทางตรงกันข้ามกัน  คือ หาความเร็วรอบของกังหันซึ่งเกิดจากลมที่พัดมาไม่ได้  ซึ่งการจะวิเคราะห์งานประเภทนี้ต้องใช้โปรแกรมที่วิเคราะห์งานแบบ Multiphysic ได้  ซึ่งก็คือการวิเคราะห์เรื่องกลศาสตร์และพลศาสตร์พร้อมๆกัน

สำหรับบทความนี้เลยจะขอแนะนำเทคนิคในการใช้โปรแกรม SolidWorks Flow Simulation เพื่อหาความเร็วรอบของกังหัน  ซึ่งได้พิสูจน์โดยการใช้ 3D Printer สร้างชิ้นงานขึ้นมาทดสอบเทียบกับผลการวิเคราะห์ด้วย

สำหรับเทคนิคดังกล่าว คือ การใช้ Flow Simulation กำหนดค่าต่างๆ ดังนี้

- กำหนดความเร็วลมที่พัดผ่านกังหัน

- กำหนดความเร็วรอบของใบพัด  โดยทำให้ใบพัดหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ

- วิเคราะห์หาค่า Torque ที่ทำให้ใบพัดหมุน

- ถ้าความเร็วรอบในการหมุนสัมพันธ์กับความเร็วลมที่พัดผ่านกังหัน  ค่า Torque ที่วิเคราะห์ได้จะต้องเป็น 0

- แสดงว่าความเร็วรอบที่ค่า Torque เป็น 0 คือความเร็วรอบของกังหันลมนั่นเอง


สำหรับใครที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม  ลองศึกษาจากวีดีโอตามลิ้งได้นะครับ

หากใครสนใจศึกษาการใช้งานโปรแกรม SolidWorks Simulation สามารถสั่งซื้อแผ่นสอนได้

ดูรายละเอียดแผ่นสอน SolidWorks Simulation คลิกที่นี่

รับสอนหรือปรึกษาการใช้งาน SolidWorks Simulation 
คุณพลวัฒน์ (บอล)
Tel. 087-489-7265
Line ID : ballastro
E-mail : sim.adviser@gmail.com
FB : SolidWorks Simulation Adviser

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ความแตกต่างของ Environment Pressure, Static Pressure, Total Pressure และการใช้งาน

การกำหนดทางเข้าทางออกของของไหลในโปรแกรม SolidWorks Flow Simulation จะต้องกำหนดค่าเป็น Pressure Opening อย่างน้อยหนึ่งตำแหน่ง  เช่น กำหนดทางเข้าเป็น Inlet Volume Flow Rate  ส่วนทางออกจะต้องกำหนดเป็น Environment Pressure  เป็นต้น  ซึ่งค่าของ Pressure Opening ในโปรแกรม มีอยู่ 3 ชนิดคือ

- Environment Pressure
- Static Pressure
- Total Pressure

ในบทความจึงขออธิบายความแตกต่างและการเลือกใช้งาน Pressure Opening ได้อย่างถูกต้อง

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเรื่องคำศัพท์เกี่ยวกับ Pressure ที่ใช้กันทั่วๆไปกันก่อน ดังนี้

- ค่า Pressure ที่ใช้ในการคำนวณจะมี 3 ชนิดคือ Total Pressure, Static Pressure, Dynamic Pressure
- สูตรของค่า Pressure คือ Total Pressure = Static Pressure + Dynamic Pressure
- โดยปกติแล้วค่า Total Pressure กับ Static Pressure จะสามารถวัดได้จากเครื่องมือวัดอย่าง Pitot Tube   ส่วน Dynamic Pressure จะได้จากการคำนวณตามสูตร  ซึ่่งเราจะใช้ Dynamic Pressure ไปคำนวณหาความเร็วของของไหลได้ต่อ

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า Pressure มีกี่ชนิดและมีสูตรคำนวณเป็นอย่างไรบ้าง  คราวนี้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Pressure ในความเป็นจริงกับโปรแกรม Flow Simulation จะเทียบกันได้อย่างไร

- สภาวะที่ไม่มีความดันเลยเรียกว่า Absolute Zero Pressure
- บนพื้นโลกมีอากาศอยู่  ทำให้เกิดความดันขึ้น  โดยปกติเราจะกำหนดให้ความดันบนพื้นโลกเท่ากับ 1 Bar
- เครื่องมือวัดความดันที่เราใช้กันอยู่จะใช้แรงดันบนพื้นโลกเป็นเกณฑ์  เราเรียกความดันที่ได้จากเครื่องมือวัดว่า Pressure Guage
- ค่า Absolute Pressure = Pressure Guage + ความดันบนพื้นโลก
- ในโปรแกรม Flow Simulation จะให้เรากำหนดค่า Absolute Pressure 

ดังนั้นในโปรแกรม SolidWorks Flow Simulation ที่มี Pressure Opening อยู่ 3 แบบ  จะใช้ดังนี้
- Static Pressure จะใช้กำหนดบริเวณที่ทราบค่าแรงดันจากเกจที่ติดอยู่
- Total Pressure จะใช้กำหนดบริเวณที่ทราบแรงดันรวมทั้งหมด  ซึ่งมักจะเป็นตำแหน่งที่เป็น Reservoir เช่น ถังแรงดัน, อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น
- Environemnt Pressure เป็น Pressure ที่เปลี่ยนไปมาระหว่าง Static กับ Total  ดังนี้
      - ถ้าตำแหน่งที่กำหนด Environment Pressure เป็นทางออกของของไหล  ตัว Environment จะมีค่าเท่ากับ Static Pressure
      - ถ้าตำแหน่งที่กำหนด Environment Pressure เป็นทางเข้าของของไหล  ตัว Environment จะมีค่าเท่ากับ Total Pressure

เมื่อเข้าใจความหมายของ Pressure แบบต่างๆแล้ว  คราวนี้จะขอยกตัวอย่างงานว่าจะต้องกำหนด Pressure ค่าไหน  ดังนี้

ตัวอย่าง ถังแรงดัน 10 bar ต่อกับท่อ  ที่ปลายที่ติด Nozzle ไว้  ต้องการทราบว่าแก็สที่ออกจาก Nozzle สู่บรรยากาศรอบนอกจะมีทิศทางและความเร็วเท่าไร

- ในการวิเคราะห๋นี้ให้เอาถังแก็สออกจากการคำนวณ  แล้วเหลือแค่ท่อกับ Nozzle ไว้ก็พอ
- ฝั่งที่เป็นถังแก็สจะกำหนดเป็น Total Pressure = 11 bar เพราะว่าแก็สในถังอยู่นิ่งทั้งหมด  ดังนั้นความดันที่วัดได้จากเครื่องมือวัดคือ Static Pressure จะเท่ากับ Total Pressure  และในการกำหนดค่าในโปรแกรมจะใช้ Absolute pressure ดังนั้นจึงต้องบวกค่าความดันบรรยากาศบนพื้นโลกไปด้วยอีก 1 bar
- ฝั่งที่เป็นทางออก Nozzle กำหนดเป็น Static Pressure หรือ Environment Pressure เท่ากับ 1 bar

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

การใช้งานฟังชั่น Fan ใน Flow Simulation

          ฟังชั่น Fan เป็นอีกเครื่องมือสำหรับกำหนดการไหลเข้าหรือออกของของไหล  คล้ายๆกับการกำหนด Boundary Condition ที่ให้เป็น Inlet หรือ Outlet  ซึ่งในฟังชั่น Fan จะมีความสามารถอยู่ 3 แบบคือ
1. External Inlet Fan  การใช้งานเหมือนกับการกำหนด Boundary Condition ให้เป็น inlet  ซึ่งใช้กำหนดให้มีของไหล  ไหลเข้ามาใน Domain
2. Eaternal Outlet Fan  การใช้งานเหมือนกับการกำหนด Boundary Condition ให้เป็น Outlet  ซึ่งใช้กำหนดให้มีของไหล  ไหลออกจากใน Domain
3. Internal Fan  ใช้กำหนดพัดลมที่ติดตั้งใน Domain เพราะสามารถเลือกทางที่ของไหล  ไหลเข้ามาในพัดลม  และทิศทางที่ไหลออกได้  ยกตัวอย่างเช่น ต้องการวิเคราะห์พัดลมที่ตัวไว้กลางห้องว่าจะทำให้อากาศหมุนเวียนในห้องในทิศทางไหนบ้าง  ก็สามารถใช้ Internal Fan เพื่อกำหนดเป็นพัดลมได้
          
พัดลมที่จะใช้กำหนดเป็น Fan สามารถวาดทางเข้าและออกของลมให้เหมือนของจริง  
หรือวาดแค่ให้มีพื้นที่หน้าตัดเท่ากับพัดลมจริงก็ได้


          จุดเด่นของ Fan คือ สามารถกำหนด Fan Curve ของพัดลมจริงๆ เข้าไปในโปรแกรมได้  ทำให้ผลการวิเคราะห์ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
อัตราการไหลของพัดลมจริงๆจะขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างความดันที่ด้านหน้าและหลังพัดลมด้วย  หากความแตกต่างของความดันมีมาก  จะทำให้อัตรการไหลที่พัดลมทำได้ลดลง  ซึ่ง Fan Curve คือกราฟที่บอกความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการไหลที่พัดลมทำได้กับความแตกต่างของความดัน

          ถ้าใครต้องการใช้ Fan แล้วหาฟังชั่นนี้ใน Flow Simulation Feature Tree ไม่เจอ  ให้ลองตรวจสอบดูว่าได้เลือกฟังชั่นนี้ขึ้นมาหรือยัง  โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- คลิกขวาที่ชื่อ Project ที่วิเคราะห์อยู่ >> เลือก Customize tree
- คลิกเลือก Fan >> จากนั้นคลิกพื้นที่ว่างในหน้าจอ  เพื่อออกจาก Customize Tree  จะเห็นฟังชั่น Fan อยู่ใน Flow Simulation Feature Tree แล้ว

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562

การเลือก Solver ใน SolidWorks Simulation ให้เหมาะกับงาน

Solver คือ วิธีการคำนวณหาผลลัพธ์ในโปรแกรม SolidWorks Simulation  ซึ่งอยู่หลายแบบให้เลือก  แต่สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆคือ Direct และ Iterative

Direct 

เป็นการแก้สมการโดยตรงเพื่อหาคำตอบ  มีความแม่นยำสูงเมื่อวิเคราะห์งานที่มีขนาดเล็กถึงกลาง  และคำนวณได้เร็วเมื่อมี Ram มากพอ  แต่การคำนวณงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะต้องมี Ram มากขึ้นอย่างมาก

การคำนวณจะล้มเหลวหรือไม่แม่นยำเมื่อ
- โมเดลไม่อยู่ในสภาวะคงที่ (มีการ Fix หรือ Contact ไม่มากพอ)
- กำหนดโมเดลเป็น Rigid Body
- มี DOF มากกว่า 1 ล้านขึ้นไป

วิธี Direct จะด้อยกว่า Iterative เมื่อ
- วิเคราะห์งานทั่วไปที่มี DOF มากกว่า 100,000 
- วิเคราะห์แบบ Nonlinear ที่มี DOF มากกว่า 50,000
- วิเคราะห์ Thermal ที่มี DOF มากกว่า 500,000 

สำหรับ Solver ที่มีการคำนวณแบบ Direct คือ
- Direct Sparse  
- Large Proble Direct Sparse  เป็นการคำนวณแบบ Direct Sparse ซึ่งจะใช้ Multiple cores ในการคำนวณ  แนะนำให้ใช้ Large Problem Direct Spares ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้การคำนวณแบบ Direct Sparse แต่มี Ram ไม่พอ
- Intel Direct Sparse  เป็นการคำนวณแบบ Direct Sparse ซึ่งจะใช้ Multiple cores  แต่ต้องมี Ram ที่เพียงพอด้วยจึงจะคำนวณได้
- Intel Network Sparse  ใช้กับการคำนวณแบบ Offroad ซึ่งเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ในวง Network ช่วยคำนวณ

Iterative 

เป็นการคำนวณแบบทำซ้ำเพื่อหาคำตอบ  โดยใช้วิธี Implicit integration ซึ่งจะสันนิษฐานและประเมินข้อผิดพลาดของคำตอบ  แล้ววนหาคำตอบซ้ำไปเรื่อยๆ จนข้อผิดพลาดน้อยมากเพียงพอ  ซึ่งวิธีนี้จะใช้ Ram น้อยกว่าการคำนวณแบบ Direct

วิธีนี้จะไม่แม่นยำเมื่อ
- ใช้ Incompatible Mesh 
- มีการกำหนด External Force หรือ Gravity ในงานวิเคราะห์ Frequency
- มีการกำหนด Base excitation ในการวิเคราะห์ Linear Dynamic
- ในงาน Assembly มีวัสดุที่ค่า Modulus of elasticity แตกต่างกันมาก
- มีการนำอุณหภูมิหรือแรงดันงานการวิเคราะห์ Thermal หรือ Flow Simulation เข้ามาวิเคราะห์ต่อ
- มีการใช้ Circular/cyclic Symmetry
- เป็นงานวิเคราะห์แบบ Nonlinear

Iterative จะด้อยกว่า Direct เมื่อ
- มีการกำหนด Contact แบบ No penetration  โดยเฉพาะการคิดผลกระทบจากแรงเสียดทาน
- วิเคราะห์งานแบบ Mix Mesh ระหว่าง Beam กับ Solid (ถ้าใช้ SolidWorks เวอร์ชั่นต่ำกว่า 2011)
- มีการกำหนด Virtual wall
- มีการกำหนด Pin หรือ Rigid connection
- มีการใช้คำสั่ง Soft Spring

สำหรับ Solver ที่มีการคำนวณแบบ Iterative คือ
- FFEPlus

ขั้นตอนการเลือก Solver 

- คลิกขวาที่ชื่อ Study >> เลือก Properties
- เลือก Solver ที่ต้องการ >> กด OK

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2562

มีอะไรใหม่ใน SolidWorks Simulation 2020

SolidWorks Simulation มีการพัฒนาฟังชั่นใหม่ๆ ขึ้นมาทุกปี  ซึ่งก็มีทั้งการปรับเปลี่ยนเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ผู้ใช้งานสะดวกขึ้น  และมีฟังชั่นเด่นที่เพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ขึ้นไปอีก

สำหรับในปี 2020 ก็มีฟังชั่นเด่นๆ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้

1. การวิเคราะห์แรงกระจายสำหรับ Pin และ Bolt

          การใช้คำสั่ง Pin หรือ Bolt ในเวอร์ชั่นก่อนจะพิจารณาให้ผิวบนชิ้นงานที่หัว Bolt  หรือผิวทรงกระบอกที่กำหนด Pin เป็นตำแหน่งที่มีความแข็งเกร็ง (เรียกกันว่า Rigid) ซึ่งทำให้ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีการเสียรูปไปจากเดิม  ซึ่งทำให้ค่า Stress บริเวณนี้จะสูงกว่าที่ควรจะเป็น
          ใน SolidWorks Simulation เวอร์ชั้น 2020 จึงเพิ่มความสามารถในการกระจายแรงบนตำแหน่งที่กำหนด Pin และ Bolt ได้  ทำให้ผลลัพธ์ทั้งค่า Stress และ Displacement สมจริงมากยิ่งขึ้น  ซึ่งความสามารถนี้ยังได้ใช้เฉพาะการวิเคราะห์ Linear Static เท่านั้น
ตัวอย่างงานวิเคราะห์ Bolt ขันล๊อคแกนเหล็ก 2 อัน  โดยมี Pre-load 1000 N
ภาพทางซ้ายคือค่า Stress จากการวิเคราะห์ Blot แบบเดิม (แบบ Rigid)  จะเห็นว่าค่า Stress สูงแต่จุดๆเดียว  ส่วนภาพทางขวาเป็นการวิเคราะห์ Bolt แบบใหม่ (แบบ Distributed)  ซึ่งแรงจะกระจายไปบนผิวบริเวณหัว Bolt ทำให้ค่า Stress กระจายไปทั่วผิวด้วย

Displacement จากการวิเคราะห์แบบ Rigid จะบุบลงไปทั้งระนาบเพราะการวิเคราะห์แบบ Rigid จะมองว่าผิวบริเวณหัว Bolt ทั้งหมดไม่มีการเสียรูป  ส่วนการวิเคราะห์แบบ Distributed จะมีค่า Displacement ค่อยๆ ไล่ระดับการยุบลงมา

2. สามารถวิเคราะห์ Draft และ High Quality Mesh ได้พร้อมกัน

          การสร้าง Mesh ในเวอร์ชั่นก่อนจะต้องเลือกว่าจะวิเคราะห์ชิ้นงานด้วย Mesh แบบ Draft หรือ High Quality อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น  ทำให้ในงาน Assembly ที่ประกอบด้วย Part ที่เป็นเหลี่ยมมุม (เหมาะสำหรับ Mesh Draft Quality ทำให้คำนวณได้เร็วขึ้น) และ Part ที่มีส่วนโค้งหรือรูเจาะ (เหมาะสำหรับ Mesh High Quality เพื่อให้ Mesh จำลองรูปร่างชิ้นงานได้ตรงตามความเป็นจริง)  จะต้องเลือก Mesh ขนิดใดเท่านั้น
          ใน SolidWorks Simulation เวอร์ชั้น 2020 สามารถเลือกได้ว่าจะให้ Part ใดใช้ Mesh High Quality และ Part ใดจะใช้ Mesh Draft Quality ทำให้การสร้าง Mesh ยืดหยุ่นมากขึ้น  และเราสามารถเลือก Mesh ให้เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและวิเคราะห์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  โดยความสามารถนี้ใช้ได้ในการวิเคราะห์ Linear Static, Frequency, และ Buckling
Mesh สีส้มคือส่วนที่เป็น Draft Quality และ Mesh สีน้ำเงินคือ High Quality

3.  วิเคราะห์ความร้อนและการขยายตัวใน Beam Mesh

          การวิเคราะห์ Thermal ก่อนหน้านี้จะทำได้เฉพาะ Solid และ Shell Mesh  ทำให้งานที่เป็นโครงเหล็ก Structure จำเป็นจะต้องใช้ Mesh จำนวนมาก  ในเวอร์ชั่น 2020 จึงเพิ่มความสามารถของการวิเคราะห์อุณหภูมิด้วย Thermal สำหรับ Beam Mesh และสามารถส่งค่าความร้อนนี้ไปวิเคราะห์ระยะยืดของโครงเหล็กได้อีกด้วย  โดยการใส่ค่าความร้อนที่สามารถกำหนดได้ใน Beam Mesh มีดังต่อไปนี้
ตารางแสดงการกำหนดค่าในฟังชั่น Thermal สำหรับ Beam Mesh
ตัวอย่างงานวิเคราะห์การกระจายตัวของอุณหภูมิ  และวิเคราะห์การขยายตัว
ความร้อนที่กระจายตัวบนโครงเหล็ก
ระยะที่เหล็กมีการยืดตัวจากความร้อน

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

การแสดงกราฟ Stress บนขวดด้วยคำสั่ง Probe

ในงานบางงานเราก็ต้องการผลลัพธ์ที่จุดต่างๆ บนชิ้นงาน  โดยอาจจะแสดงในรูปแบบของกราฟผลลัพธ์เทียบกับความยาวหรือความสูงของชิ้นงาน  ยกตัวอย่างเช่น กรณีของการทดสอบการรับแรงกดของขวดแก้ว  ซึ่งผู้ออกแบบต้องการทราบค่า Stress ตลอดช่วงความยาวของขวด  เพื่อนำไปพิจารณาว่าขวดมีความแข็งแรงเพียงพอหรือไม่  หรือมีตำแหน่งใดบนขวดที่มีค่า Stress สูงเกินไป  เป็นต้น

ในโปรแกรม SolidWorks Simulation สามารถแสดงผลลัพธ์ที่จุดต่างๆ ได้โดยการใช้คำสั่ง Probe  โดยปกติแล้วเราอาจจะแสดงผลลัพธ์เป็นจุดๆไป  แต่จริงๆแล้วคำสั่ง Probe ยังสามารถใช้แสดงผลลัพธ์ทั้งบริเวณที่คลิกเลือก  ไม่ว่าจะเป็นเส้นขอบพื้นผิวได้อีกด้วย  เราลองมาดูวิธีใช้งานกันเลย

- วิเคราะห์ค่า Stress บนขวดแก้ว  โดยใช้การวิเคราะห์แบบ Symmetry 1/4
- คลิกขวาที่ Stress >> เลือกคำสั่ง Probe
- เลือก On selected entities >> คลิกขอบขวดที่ต้องการวัดค่าทั้งหมด
- คลิก Update  โปรแกรมจะแสดงค่า Stress ที่อยู่บนขอบขวดทั้งหมดออกมา
- เนื่องจากต้องการกราฟของ Stress เรียงตั้งแต่ปากขวดมาจนถึงก้นขวด  และทิศทางตามความสูงของขวดคือแนวแกน Y >> คลิกที่ Y(mm) เพื่อเรียงลำดับค่า Stress ตามความสูง (คลิกครั้งแรกจะเรียงจากน้อยไปมาก  และคลิกซ้ำจะเรียงจากมากไปน้อย)
- เลือก Plot เพื่อแสดงกราฟของค่า Stress ตามลำดับความสูงของขวด
- เนื่องจากกราฟในโปรแกรม SolidWorks Simulation จะมีแกน x เป็นชื่อ Node และแกน Y เป็นค่า Stress  ดังนั้นถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงกราฟให้แกน X เป็นค่า Stress และแกน Y เป็นลำดับความสูง  ก็สามารถ Save ข้อมูลเป็นไฟล์ .csv เพื่อนำไปทำกราฟใน Excel ต่อได้


ด้วยวิธีข้างต้นก็จะสามารถแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นกราฟเพื่อนำไปนำเสนองานให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

สำหรับคนที่สนใจศึกษาวิธีการใช้โปรแกรม SolidWorks Simulation ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูงสามารถซื้อแผ่นสอน SolidWorks Simulation ไปเรียนรู้ด้วยตัวเองได้  ซึ่งแผ่นสอนที่ทาง Simulation Advise จัดจำหน่ายมีอยู่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเรื่องที่สนใจได้

รับปรึกษา  สอน  วิเคราะห์งานด้วยโปรแกรม SolidWorks Simulation
คุณพลวัฒน์ (บอล)
Tel. 087-489-7265
Line ID : ballastro
E-mail : sim.adviser@gmail.com
FB : Simulation Adviser